เนื่องจากด้วยปัจจุบันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลับมารุนแรงมากขึ้นกว่าเดิมในหลายพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้กับพนักงานรักษาความปลอดภัย เพื่อนร่วมงาน และผู้ว่าจ้าง ทางบริษัทรักษาความปลอดภัย ซิลเวอร์ การ์ด จำกัด ได้กำชับถึงมาตรการการป้องกันตัวเองจากเชื้อไวรัสโควิด-19 กับพนักงานรักษาความปลอดภัย และได้มีการตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วย Rapid Test ชนิดตรวจ Antigen เพื่อคัดกรองหาเชื้อโควิด 19 ให้กับพนักงานรักษาความปลอดภัย
ทำความเข้าใจก่อนใช้งาน Rapid Test
ทำความเข้าใจก่อนใช้งานจริง! Rapid Test คือ อะไร?
การตรวจแบบ Rapid Test จะไม่สามารถยืนยันผลลัพธ์การติดเชื้อโควิด-19 ที่แม่นยำได้ แต่ก็สามารถใช้คัดกรองในเบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ที่สงสัยว่าติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ เพื่อลดปัญหาความแออัดและการรอคิวนานจากการเดินทางไปตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาล และยังเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยให้ตรวจพบเชื้อได้เร็วขึ้น เพื่อให้เข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที
ชุด Rapid Test แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ Rapid Test ชนิดตรวจ Antigen (Rapid Antigen Test) กับชนิดตรวจ Antibody (Rapid Antibody Test) ซึ่งมีจุดประสงค์ในการตรวจที่แตกต่างกัน ดังนี้ (ข้อมูลจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุข)
Rapid Antigen Test
- Rapid Antigen Test คือ การตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยใช้วิธีการ Swab เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่ง ที่บริเวณจมูกลึกถึงคอ เก็บจากลำคอ หรือเก็บจากบริเวณอื่น ขึ้นอยู่กับวิธีการเก็บตัวอย่างของชุดการตรวจนั้น ๆ ซึ่งวิธีการตรวจนี้ ผู้ตรวจจะต้องรับเชื้อมาแล้ว 5 – 14 วัน ถึงจะได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ เพราะหากเชื้อไวรัสที่มีอยู่น้อย ก็อาจทำให้วิธีการตรวจนี้ไม่พบเชื้อ ดังนั้น จำเป็นจะต้องไปตรวจแบบ RT-PCR ซ้ำที่โรงพยาบาล
Rapid Antibody Test
- Rapid Antibody Test คือ การตรวจหาภูมิคุ้มกันโควิด-19 โดยใช้วิธีการเจาะเลือดที่บริเวณปลายนิ้วหรือท้องแขน ผู้ตรวจจะต้องรับเชื้อมาแล้ว 10 วันขึ้นไป ถึงจะตรวจเจอภูมิคุ้มกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น วิธีการตรวจนี้มีโอกาสคลาดเคลื่อนสูง เพราะภูมิคุ้มกันโควิด-19 ไม่ได้มาจากการติดเชื้อเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะมาจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือแม้กระทั่งผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายป่วยดีแล้ว ก็สามารถตรวจพบได้
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยอนุญาตให้ประชาชนซื้อมาใช้ตรวจเองได้ แค่ชุด Rapid Antigen Test เท่านั้น (ทางภาครัฐจะเรียกว่าชุด Antigen Test Kit)
ข้อควรระวังในการใช้งาน
- เก็บรักษาชุดตรวจในอุณหภูมิที่กำหนดและตรวจสอบวันหมดอายุก่อนใช้งาน
- เตรียมพื้นที่สำหรับการตรวจที่เหมาะสม ทำความสะอาดพื้นที่ที่จะวางแผ่นตรวจด้วยแอลกอฮอล์
- อย่าเปิดหรือฉีกบรรจุภัณฑ์จนกว่าจะใช้งาน
- ไม่ใช้อุปกรณ์หรือตลับทดสอบซ้ำ
การเตรียมตัวก่อนเริ่มตรวจ
[คำแนะนำจากระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (NHS)]
- ไม่ควรดื่มหรือทานอาหาร ก่อนการตรวจเชื้ออย่างน้อย 30 นาที
- หากเพิ่งมีเลือดกำเดาไม่เกิน 24 ชั่วโมง ให้หลีกเลี่ยงการตรวจไปก่อน หรือให้ตรวจจากรูจมูกข้างที่ไม่มีเลือดกำเดาไหล
- หากเจาะจมูก ต้องถอดห่วงหรือจิลที่เจาะจมูกออกก่อนทำการตรวจ พยายามหลีกเลี่ยงการตรวจจากจมูกข้างที่เจาะ
วิธีการใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test
- ล้างมือด้วยสบู่ น้ำสะอาด และเจลแอลกอฮอล์
- เริ่มเก็บตัวอย่างเชื้อ ด้วยการใช้ก้านสำลีสำหรับ swab โดยทำตามคำแนะนำที่มากับชุดตรวจอย่างเคร่งครัดเช่น การแหย่จมูก การแหย่ลำคอ กระพุ้งแก้ม เป็นต้น ซึ่งจะหมุนก้านลำสีประมาณ 3 – 4 ครั้ง หรือ 3 วินาที
- นำก้านสำลีมาหมุนใส่หลอดที่มีสารละลายตรวจเชื้อ หมุนวนอย่างน้อย 5 ครั้ง หรือ 15 วินาที แล้วบีบสำลีให้แห้งผ่านหลอด ห้ามให้มือสัมผัสกับก้านสำลีหรือสารละลายเด็ดขาด
- เมื่อเสร็จแล้วให้นำก้านสำลีทิ้งใส่ซีล และหยดสารละลายลงในแท่นตรวจ ตามจำนวนหยดที่ชุดตรวจกำหนดไว้ รอผล 15 – 30 นาที
วิธีอ่านค่าผลตรวจ
- หากตรงตัวอักษร C ขึ้นขีดเดียว แปลว่าผลตรวจเป็นลบ (ไม่ติดเชื้อ)
- หากตรงตัวอักษร C และ T ขึ้น 2 ขีด แปลว่าผลตรวจเป็นบวก (พบเชื้อ)
- หากไม่มีขีดที่ตัว C และ T หรือปรากฎแค่ตรง T แปลว่าแผ่นเทสเสีย
|
|
บทความจาก : https://allwellhealthcare.com/rapid-test-covid-19/
|